Skip to content

จัดฟันด้วยเซรามิก

การจัดฟันด้วยเซรามิก เป็นการจัดฟันที่มักเห็นได้ตามทั่วไปอีกแบบหนึ่ง แต่อาจไม่เป็นที่นิยมมากนัก จะพบได้ในผู้เข้ารับการจัดฟันที่เป็นผู้ใหญ่ หรือผู้ที่ต้องการการจัดฟันแบบ ไม่ให้เห็นว่ากำลังดัดฟันชัดเจนมากนัก โดยใช้วิธีการติดเครื่องมือแบบเซรามิก ซึ่งมีสีใกล้เคืองผิวฟันไว้ที่ผิวฟันด้านหน้า แล้วใส่ลวดผ่านร่องเครื่องมือและใช้ยางใสรัดเข้ากับเครื่องมือ

ข้อดี

      เครื่องมือจัดฟันประเภทเซรามิก ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้สีและความใสใกล้เคียงสีฟันมากที่สุด เหมาะกับผู้ที่ต้องการจัดฟันแต่ไม่อยากต้องการให้เป็นที่สังเกตเด่นชัด และเนื่องจากเป็นการติดตั้งเครื่องมือด้านนอก จึงทำให้การดูแลรักษาเครื่องมือทำได้ง่าย แต่ค่าใช้จ่ายของการจัดฟันชนิดนี้ยังมีราคาสูงกว่าการจัดฟันแบบโลหะ เพราะวัสดุเซรามิกที่นำมาใช้ในการจัดฟันนั้นเป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้ติดกับฟันและอยู่ในปากนานกว่าเครื่องมือแบบโลหะ และรวมถึงจำนวนการใช้งานก็ไม่มากเท่าแบบโลหะ ทำให้ค่าใช้จ่ายจึงสูงกว่า แต่เมื่อเทียบกับความเหมาะสมกับคนที่ต้องการจัดฟันแบบนี้ ก็ยังไม่แพงจนเกินไป

ข้อควรระวัง

      เครื่องมือจัดฟันแบบเซรามิคถึงแม้ว่าจะมีความแข็งแรงและผิวที่เรียบมันวาว แต่ก็ยังน้อยกว่าแบบโลหะ จึงทำให้ต้องระมัดระวังและรักษาเครื่องมือเป็นพิเศษ ควรดูแลเครื่องมือตามคำแนะนำของทัตแพทย์ และพบทันตแพทย์ตามกำหนด เพื่อผลสำเร็จของการรักษาตามกำหนด และหากเกิดความผิดปกติของเครื่องมือภายในช่องปาก ให้พบหรือปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรักษาอาการผิดปกติทันที

วิธีการรักษา

      การจัดฟันด้วยเซรามิก ใช้หลักการการจัดฟันโดยอาศัยแรงยึดดึงทำให้ฟันเคลื่อนที่ไปตำแหน่งที่กำหนด โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้กำหนดทิศทางการเคลื่อนตัวของฟันในการจัดฟัน นอกจากนี้ผู้เข้ารับการจัดฟันจะไม่สามารถถอดเครื่องมือเองได้ ดังนั้นจึงต้องมาพบแพทย์เป็นประจำตามกำหนดเพื่อทำการเปลี่ยนเครื่องมือ

ถอนฟันเพื่อการจัดฟัน

การจัดฟันไม่จำเป็นต้องถอนฟันในทุกกรณี

       ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่เข้ารับการจัดฟันมีฟันซ้อนเกมากน้อยเพียงใด หรือมีพื้นที่ในขากรรไกรเพียงพอ สำหรับการจัดเรียงฟันให้เป็นระเบียบได้หรือไม่ หากมีฟันซ้อนเกมากประกอบกับขากรรไกรมีพื้นที่ไม่พอก็ต้องถอนฟันออก

     ซึ่งโดยทั่วไปจะพิจารณาถอนฟันกรามน้อยซี่ที่หนึ่งด้านละ 1 ซี่ เนื่องจากเป็นฟันที่อยู่กึ่งกลางความโค้งของขากรรไกร ซึ่งจะอยู่ไม่ไกลจากการซ้อนเกของฟันด้านหน้าและฟันด้านหลัง ทำให้ฟันหน้าและฟันหลังสามารถเคลื่อนตัวเข้ามาปิดช่องว่างได้ดีกว่าการถอนฟันซี่อื่นๆ และฟันกรามน้อยซี่ที่สองก็สามารถทำหน้าที่แทนฟันกรามน้อยซี่ที่หนึ่งได้เช่นกัน

ตั้งท้อง… ต้องดูแลฟัน

เมื่อตั้งท้องคุณแม่จะสูญเสียแคลเซียมมากกว่าปกติ ดังนั้น เราจึงมีวิธีดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟันมาฝากค่ะ

• รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพิ่มการกินอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินและฟอสฟอรัส เช่น นม ไข่ ผักผลไม้ ปลาเล็กปลาน้อย หลีกเลี่ยงน้ำตาลและของหวานระหว่างมื้ออาหารซึ่งจะทำให้ฟันผุได้ง่าย

• ดูแลอนามัยในช่องปากสม่ำเสมอ โดยแปรงฟันทุกครั้งหลังกินอาหารหรืออย่างน้อยต้องบ้วนปากหลายๆ ครั้งหลังกินอาหารหรืออาเจียน หรือใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วยเพื่อไม่ให้เศษอาหารตกค้างหรืออุดตันตามซอกฟัน

• ตรวจสภาพช่องปาก และขอคำแนะนำในการดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากที่ถูกต้องจากทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด

• ปรึกษาแพทย์ ก่อนการใช้ยาใดๆ เสมอ

หมากฝรั่ง… ป้องกันฟันผุ?

ทุกวันนี้ผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพปากและฟัน มีทางเลือกมากมายในการดูแลสุขภาพในช่องปากของตน เพราะผู้ผลิตหลายๆ ราย ได้วางจำหน่ายหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล ( Sugar-free gum ) ที่ไม่ทำให้ฟันผุ เป็นที่ทราบกันดีว่าการเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นวิธีการทำความสะอาดฟันที่ดีมากวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่นอกบ้านและการแปรงฟันเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกนัก หมากฝรั่งปราศจากน้ำตาลดังกล่าวไม่ทำให้เกิดฟันผุ โดยผู้ผลิตจะใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (sweetener) เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์

หลายๆ ท่านอาจมีข้อสงสัยว่า “ เมื่อไม่มีน้ำตาล ก็ไม่ทำให้ฟันผุ แล้วจะช่วยป้องกันฟันผุได้หรือไม่ ” จึงขอกล่าวถึงข้อเท็จจริงและความแตกต่างของหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาลแต่ละประเภทให้ได้ทราบดังนี้

แต่เดิมนั้นน้ำตาลเป็นสิ่งเดียวที่ใช้ผสมในขนมหวาน และขนมขบเคี้ยวตลอดจนหมากฝรั่งเพื่อให้รสหวานอร่อย แต่ข้อเสียก็คือ “ น้ำตาลนั้นนอกจากจะเป็นอาหารของเราแล้ว ยังเป็นอาหารของแบคทีเรียในปากที่มีชื่อว่า สเตร็ปโตค็อกคัส มิวแทน ตัวการหลักของการเกิดฟันผุอีกด้วย ” เมื่อน้ำตาลเป็นต้นเหตุหนึ่งของปัญหาฟันผุ ผู้ผลิตหมากฝรั่งหลายๆราย จึงหันมาใช้ “ สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ” แทนการใช้น้ำตาล เนื่องจากแบคทีเรียไม่สามารถย่อยสลายสารให้ความหวานเหล่านี้ได้ จึงไม่ทำให้ฟันผุ อีกทั้งยังทำให้รู้สึกสบายใจกว่าในการซื้อหามาบริโภค อย่างไรก็ดี ในบรรดาสารให้ความหวานทั้งหมด “ ไซลิทอล ” ดูจะโดดเด่นที่สุด เนื่องจากให้รสชาติหวานอร่อยใกล้เคียงน้ำตาลมากที่สุด อีกทั้งยังให้พลังงานหรือแคลอรี่น้อยกว่าน้ำตาลถึง 40% ที่สำคัญก็คือ ไซลิทอลช่วยป้องกันฟันผุได้ เพราะสามารถช่วยทำให้แบคทีเรียต้นเหตุของการเกิดฟันผุลดจำนวนลงได้ ( เนื่องจากไม่สามารถย่อยไซลิทอลไปเป็นอาหารได้ เพราะมีโมเลกุลเพียง 5 อะตอม ซึ่งสารให้ความหวานอื่นๆ ไม่สามารถทำได้ ) ไซลิทอล คือน้ำตาลแอลกอฮอล์ธรรมชาติชนิดหนึ่ง พบได้ในพืช ผักและผลไม้หลายชนิด อาทิ ต้นเบิร์ช สตรอเบอร์รี่ รวมถึงผลไม้เปลือกแข็ง เช่น ถั่วเชสนัท และถั่ววอลนัท เนื่องจากคุณสมบัติพิเศษของไซลิทอลที่ช่วยลดปัญหาฟันผุ มีรสหวานอร่อยและเป็นผลิตผลจากธรรมชาติ หลายๆประเทศชั้นนำในยุโรปและอเมริกาจึงมีการนำไซลิทอลมาใช้เป็นส่วนประกอบในขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมากฝรั่งเพื่อช่วยลดปัญหาฟันผุ นับเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว และยังนิยมแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน จากการค้นคว้าวิจัยพบว่า ผู้ที่เคี้ยวหมากฝรั่งที่มีสารไซลิทอล 5 ครั้ง / สัปดาห์ ติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ มีปริมาณคราบจุลินทรีย์ในปากลดลงถึง 38% ในขณะที่ผู้ที่เคี้ยวหมากฝรั่งที่มีสารซอร์บิทอล ที่พบในหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาลทั่วๆไป ในระยะเวลาเท่ากัน จะมีปริมาณคราบจุลินทรีย์ในปากลดลงเพียง 9.7% และแน่นอนว่าหากเรายังเคี้ยวหมากฝรั่งธรรมดาที่ใช้น้ำตาลไม่ว่าจะเป็นซูโครสหรือกลูโคสเป็นส่วนประกอบในระยะเวลาเท่าๆกัน ก็ย่อมจะเป็นการเพิ่มปริมาณคราบจุลินทรีย์ในปากให้ยิ่งมากขึ้น ฟันของเราจึงยิ่งเสี่ยงต่อการผุมากยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมทั้งไซลิทอล และซอร์บิทอล พบว่าจะยิ่งเสริมประสิทธิภาพช่วยลดปัญหาคราบจุลินทรีย์ได้ดีกว่าหมากฝรั่งที่มีซอร์บิทอลเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ในการศึกษาเกี่ยวกับการผุของฟันน้ำนมและฟันแท้ ยังพบว่า การเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของไซลิทอลช่วยให้การสะสมแร่ธาตุคืนกลับของแคลเซี่ยม และฟอสเฟตซึ่งเป็นองค์ประกอบของเนื้อฟันเพิ่มขึ้นมากกว่าการเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของซอร์บิทอล และหมากฝรั่งที่ผสมน้ำตาล โดยยังทำให้บริเวณรอยผุของฟันกลับแข็งขึ้นอีกด้วย ปัจจุบัน สมาคมทันตแพทย์ชั้นนำในยุโรปกว่า 10 ประเทศ อาทิ ฟินแลนด์ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ฯลฯ จึงให้การรับรองว่า “ การเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของสารไซลิทอล หลังอาหารมื้อหลักและมื้อว่างครั้งละ 1-2 เม็ด โดยเคี้ยวนานอย่างน้อย 3 นาทีขึ้นไปเป็นประจำ สามารถช่วยลดการเกิดฟันผุได้ ”

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก gotoknow.org

คำแนะนำหลังขูดหินปูน

ผู้รับบริการขูดหินปูนอาจเกิดความสงสัยว่าทำไมมีเลือดออกตามเหงือกหลังจากขูดหินปูน เรามีคำตอบและคำแนะนำสำหรับคุณค่ะ

        1. ภายหลังขูดหินปูนเสร็จใหม่ ๆ อาจมีเลือดออกตามขอบเหงือกซึ่งเป็นเรื่องปกติเนื่องจากมีการขูดหินปูนที่ติดอยู่ใต้เหงือก ทำให้มีเลือดไหลซึมออกมาเล็กน้อย เลือดจะค่อยๆ หยุดไหลไปเอง และไม่ควรบ้วนน้ำบ่อยๆ จะทำให้เลือดหยุดไหลได้ช้าลง

        2. หลังจากขูดหินปูนในระยะ 1 – 2 สัปดาห์แรก อาจมีอาการระบมของเหงือกและเสียวฟันตามมาได้ ผู้ป่วยควรระมัดระวังในขณะแปรงฟันและควรแปรงให้สะอาด แล้วอาการเหล่านั้นจะค่อยๆ หายไป

        3. หินปูนเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และระคายเคืองต่อเหงือก ทำให้เหงือกร่น เกิดการอักเสบของเหงือก ทำให้เหงือกบวม ฟันโยก ทำให้ปวดหรือรำคาญ และในที่สุดก็ต้องถอนฟันซี่นั้นออก ผู้ป่วยจึงควรมารับบริการขูดหินปูนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งและเมื่อได้รับการขูดหินปูนแล้วยังมีการตรวจฟันอย่างละเอียดอีกด้วย

กลิ่นปาก

     กลิ่นปาก คือ ลมหายใจที่ผ่านช่องปากมีกลิ่นเห็นเป็นครั้งคราว หรือมีกลิ่นตลอดเวลาก็ว่าได้ คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่ามีกลิ่นปาก อาจทดสอบด้วยตัวเองโดยการใช้มือบังบริเวณปากและจมูก แล้วหายใจออกทางปาก แล้วตามด้วยหายใจเข้าทางจมูกก็จะได้กลิ่นปาก

สาเหตุของกลิ่นปาก

     • อนามัยช่องปากไม่ดี มีเศษอาหารค้างในช่องปากเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากฟันผุ เหงือกอักเสบ การแปรงฟันไม่สะอาด ไม่ได้ใช้ไหมขัดฟันหลังกินอาหาร จึงมีเศษอาหารค้างอยู่ในช่องปาก ซอกฟัน นอกจากนี้ ยังเกิดจากคราบแบคทีเรียที่เกาะตามฟัน เหงือก ลิ้น ซอกฟันเก ฟันปลอม และอุปกรณ์ทางทันตกรรม เมื่อเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นได้ เลือดออกตามไรฟันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของกลิ่นปาก
     • บุหรี่ คราบสารนิโคติน และทาร์ (tar) ในบุหรี่ที่เคลือบตามฟันและติดแน่นกับเหงือก ช่องปาก และปอด ทำให้ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น

     • สุขภาพทั่วไป กลิ่นปากอาจเกิดจากโรคต่างๆ เช่น ทอนซิลอักเสบ ปอดอักเสบ แผลในช่องปาก ไซนัสอักเสบ ไข้หวัด โรคของกระเพาะอาหาร ยาบางชนิด

     • อาหาร โดยเฉพาะเครื่องเทศ กระเทียม หอม สุรา ซึ่งจะมีกลิ่นติดปากประมาณ 1-2 วัน นมและเนยก็มีส่วนให้เกิดกลิ่นปากได้

     • ปากแห้งอันมีสาเหตุมาจากน้ำลายน้อย เช่น ผู้มีอาชีพใช้เสียง หรือผู้ป่วยภูมิแพ้ที่นอนอ้าปากหายใจทางปากขณะหลับ การเคี้ยวอาหารช่วยให้น้ำลายออกมากขึ้น

     • อายุ แม้ว่าจะดูแลอนามัยช่องปากเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม อายุที่สูงขึ้นมีส่วนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายน้อยลง

การดูแลตนเองเมื่อมีกลิ่นปาก

     กลิ่นปากสามารถหายได้ด้วยการรักษาสุขอนามัยช่องปากให้ดี หากยังไม่ดีขึ้นควรพบทันตแพทย์

     • ทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหากลิ่นปาก คือ การแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ และใช้ไหมขัดฟันทุกวัน อีกทั้งนัดพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน

     • หากมีเลือดออกตามไรฟันขณะแปรงฟัน หรือหลังใช้ไหมขัดฟันเป็นเวลาเกิน 3 สัปดาห์ อาจเกิดจากเหงือกอักเสบ ควรพบทันตแพทย์
     • ควรแปรงลิ้นให้ถึงโคนลิ้นด้วยแปรงที่อ่อนนุ่มทุกวัน เพราะลิ้นเป็นแหล่งสะสมแบคทีเรียเช่นกัน พบว่าผู้ที่แปรงลิ้นมีกลิ่นปากน้อยกว่าผู้ที่แปรงฟันโดยไม่แปรงลิ้น

     • ผู้ที่สูบบุหรี่ควรหยุดสูบบุหรี่ทันที กลิ่นปากจะหมดไปหลังหยุดสูบบุหรี่ 2 สัปดาห์

     • ดื่มน้ำปริมาณมากเพื่อป้องกันปากแห้ง

     • กินผักสดและผลไม้ที่มีกากใยอาหาร เป็นการช่วยทำความสะอาดฟัน

     • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น หอม กระเทียม เครื่องเทศ

     • น้ำยาบ้วนปาก ยาอม และสเปรย์ดับกลิ่นปาก ช่วยบดบังหรือระงับกลิ่นปากได้ชั่วคราว ไม่ควรอมยาอมที่มีรสหวาน เพราะเป็นเหตุให้แบคทีเรียเติบโตดี ส่งผลให้ฟันผุและเกิดกลิ่นปากมากขึ้น

     • ทำความสะอาดฟันปลอมทุกคืนตามคำแนะนำของทันตแพทย์

     • ไม่ควรงดอาหารบางมื้อ เพราะการเคี้ยวช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำลายการรักษา

     • ตรวจสุขภาพช่องปากเพื่อหาสาเหตุ และรักษาตามสาเหตุ

     • ไปพบแพทย์ หากพบว่าสาเหตุของกลิ่นปากไม่ได้เกิดจากปัญหาในช่องปาก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสาร HealthToday

ทำความสะอาดลิ้น ช่วยลดกลิ่นปาก

หากท่านต้องการให้ลมปากสะอาด ก็ไม่ควรมองข้ามถึงการทำความสะอาดลิ้น!!

     เนื่องจากลิ้นของเรามีผิวที่ไม่เรียบ แต่ขรุขระถ้าเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับพรมหนาๆ ที่ถักด้วยเส้นใยผ้า มีซอกเล็กซอกน้อยเต็มไปหมด ดังนั้นลิ้นจึงเป็นที่กักเศษอาหารอย่างดีที่สุด เหมาะที่สุดที่จะให้แบคทีเรียที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการเจริญเติบโตอาศัยอยู่ แบคทีเรียเหล่านี้ปล่อยสารพิษที่ทำอันตรายต่อเหงือกและฟันแล้ว ยังก่อให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์มีกลิ่นเหม็นเน่า

     จากการวิจัยพบว่าแบคทีเรียที่มีผลต่อกลิ่นปากมากๆ มักจะอยู่ตามโคนลิ้นมากกว่าที่ฟันและเหงือก ก็เป็นคำตอบที่ดีสำหรับหลายท่านที่สงสัยว่า
     – ฟันผุก็อุดแล้ว
     – เหงือกก็ไม่อักเสบ ขูดหินปูนทุก 6 เดือนตามหมอนัด
     – แปรงฟันหลังอาหารทุกวัน
     – เสียเงินไปก็มากกับการใช้น้ำยาบ้วนปากหลากหลายชนิด

แต่กลิ่นปากก็ยัง…

     – ลองมาสังเกตลิ้นของท่านดูว่ามีคราบอาหารจับหรือไม่ ?
     – ท่านเคยทำความสะอาดลิ้นหรือเปล่า ?

     การทำความสะอาดลิ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาสุขภาพในช่องปาก นอกจากการแปรงฟัน และใช้ Dental Floss เพื่อทำความสะอาดซี่ฟัน

เราจะทำความสะอาดลิ้นอย่างไร ?

     ปัจจุบันมีอุปกรณ์ทำความสะอาดลิ้นทำจาก plastic เป็นรูปตัว U วิธีใช้ให้แลบลิ้นออกมาให้สุด ใช้ไม้ขูดลิ้น ขูดจากโคนลิ้นมาด้านหน้า ทำสัก 3-4 ครั้ง จะเห็นคราบอาหารติดออกมา เราจะทำวันละ 2 ครั้งต่อวัน ตอนเช้าตื่นนอน และหลังอาหารเย็นก่อนนอน

     การทำความสะอาดลิ้นอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยลดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่นแล้ว ยังมีผลทำให้ลิ้นสามารถรับรสได้ดีขึ้น (วารสารทันตแพทย์สมาคมสหรัฐอเมริกา ธันวาคม 1999) และก็มีข้อมูลที่น่าสนใจในวงการแพทย์ว่ามีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญว่า แบคทีเรียในช่องปากมีโอกาสทำให้ติดเชื้อและเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ และจากวารสารของสมาคมทันตแพทย์สหรัฐอเมริกาเดือนมีนาคม 2001 ก็ยืนยันว่าก๊าซที่เกิดจากแบคทีเรียในช่องปากมีโอกาสเกิดอันตรายต่อเยื่อหุ้มปอดเช่นกัน

     การขจัดแบคทีเรียในช่องปากนอกจากจะมีผลดีต่อสุขภาพในช่องปาก ทำให้ลดกลิ่นแล้ว ยังมีผลต่อสุขภาพร่างกายส่วนอื่นด้วย ไม่เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับการแปรงฟัน ใช้ Dental Floss หรือน้ำยาบ้วนปาก

อย่าลืมทำความสะอาดลิ้นด้วยนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจากนิตยสาร HealthToday